อบจ.สงขลา

หน้าแรก / ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว  

 

ประเพณีแห่ผ้าขึ้นเขากุฎ จังหวัดสงขลา :

ดู 922 | วันที่โพส 2017-07-13 08:47:45

 
 

                     

ประเพณีแห่ผ้าขึ้นเขากุฎ จังหวัดสงขลา

               

                   

 

ประวัติความเป็นมา

          จากข้อมูลประวัติสมเด็จเจ้าเกาะยอ ที่ได้รับการถ่ายทอดบอกเล่าสืบต่อกันว่า สมเด็จเจ้าเกาะยอได้เดินทางจากรุงศรีอยุธยา เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา การเดินทางต้องเดินทางเท้า ผ่านป่า ภูเขา แม่น้ำ ลำคลอง และอุปสรรคมากมาย ท่านเดินทางจาริกธุดงควัตรเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาจนถึงเกาะยอ ชาวบ้านจึงได้สร้างกุฎิให้ท่านใช้เป็นสถานที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาบนภูเขา ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในเกาะยอ ชาวเกาะยอเรียกภูเขานี้ว่า เขากุฎ และภูเขาแห่งนี้เป็นที่ตั้งกุฎิของสมเด็จเจ้าเกาะยอ
          จากสภาพพื้นที่เกาะยอมีน้ำล้อมรอบ การเดินทางมาต้องอาศัยเรือเท่านั้น สภาพบนเกาะยอเป็นภูเขาที่มีป่าปกคลุมการเดินทางค่อนข้างลำบาก เมื่อสมเด็จเจ้าเกาะยอเดินทางเข้ามาเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา อบรมสั่งสอนให้ชาวเกาะยอ ประพฤติตนเป็นคนดีและปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา จนเป็นที่พึ่งทางจิตใจสำหรับชาวเกาะยอทุกคน จากการที่ชาวบ้านเชื่อว่าสมเด็จเจ้าเกาะยอเดินทางจากรุงศรีอยุธยา มาเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาตลอดเส้นทางจนมาถึงเกาะยอ ที่มีสภาพพื้นที่เหมาะแก่การปฏิบัติธรรมจึงได้พำนักอาศัยบนเขากุฎ และเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กับชาวเกาะยอ จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตท่านได้มรณภาพลง ชาวเกาะยอและสานุศิษย์จึงได้ก่อสร้างเจดีย์เขากุฎ เพื่อบรรจุอัฐิของสมเด็จเจ้าเกาะยอ โดยสร้างเจดีย์แบบจัตุรมุขย่อมุมไม้สิบสอง โดยการทำให้มุมมีหยักเป็นสี่เหลี่ยมออกมา แทนที่ตรงมุมจะมีเพียงมุมเดียว กลับทำหักย่อลงทำให้เป็น ๓ มุม เมื่อจัตุรมุขที่สร้างทรงสี่เหลี่ยมมี ๔ มุม จึงกลายเป็น ๑๒ มุม พร้อมกับสร้างรูปเคารพสมเด็จเจ้าเกาะยอเป็นพระพุทธรูปจำนวน ๔ องค์ ประดิษฐานไว้ที่จัตุรมุขทั้งสี่ด้านของพระเจดีย์เขากุฎ เพื่อระลึกถึงสมเด็จเจ้าเกาะยอ
          จากความเคารพและความศรัทธาต่อสมเด็จเจ้าเกาะยอ ก่อให้เกิดพิธีกรรมเพื่อบูชาสมเด็จเจ้าเกาะยอโดยจัดประเพณีแห่ผ้าขึ้นเขากุฏ เป็นประจำทุกปี เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมา ซึ่งจัดขึ้นในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี
 
ความมุ่งหมายของประเพณี
    ๑. เพื่อเฉลิมฉลองประเพณีการทำบุญในวันวิสาขบูชา และร่วมระลึกถึงบุญคุณของสมเด็จเจ้าเกาะยอ
    ๒. เพื่อเป็นการถวายเป็นพุทธบูชาพระพุทธศาสนา และต่อองค์สมเด็จเจ้าเกาะยอ
    ๓. เพื่อห่มองค์พระเจดีย์และห่มพระพุทธรูปสมเด็จเจ้าเกาะยอบนยอดเขากุฎ
 
ขั้นตอนประเพณี
พิธีสมโภชผ้า
       สถานที่ในการสมโภชผ้าจะใช้ศาลาประจำหมู่บ้าน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ศาลาพ่อท่าน สาเหตุที่เรียกศาลาแห่งนี้ว่า ศาลาพ่อท่าน เนื่องจากในอดีตศาลาแห่งนี้ตั้งอยู่ในที่ธรณีสงฆ์วัดแหลมพ้อ ตำบลเกาะยอ ผู้สร้างศาลาต้องการสร้างถวายพระอธิการเภา ติสฺสโร อดีตเจ้าอาวาสวัดแหลมพ้อ ซึ่งปกครองดูแลพื้นที่ธรณีสงฆ์ ชาวบ้านเรียกท่านว่า พ่อท่านเภา ติสฺสโร ดังนั้นศาลาแห่งนี้ ชาวบ้านทั่วไปจึงเรียกว่า ศาลา พ่อท่าน
อุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบพิธีสมโภชผ้า ประกอบด้วย
ผ้าทอเกาะยอ
       ชาวเกาะยอจะร่วมมือกันทอผ้าเกาะยอ เพื่อใช้สำหรับห่มผ้าองค์พระเจดีย์ เขากุฎ โดยชาวบ้านตำบลเกาะยอเริ่มลงมือทอผ้าในต้นเดือนเมษายนของทุกปี ผ้าที่ทอขึ้นเพื่อใช้ในพิธีสมโภชผ้าเป็นผ้าทอพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงของชาว เกาะยอมานาน ชาวบ้านทอผ้ากันที่กลุ่มราชวัตร ซึ่งเป็นกลุ่มหนึ่งที่มีชื่อเสียงในการทอผ้าเกาะยอ
 
 
 
          ผ้าที่ทอขึ้นสำหรับใช้ในพิธีกรรมมีทั้งหมด ๔ สี คือ สีเหลือง สีชมพู สีเขียว และสีขาว โดยผ้าทอที่นำไปห่มรูปเคารพ คือ ผ้าทอเกาะยอสีเหลือง สำหรับห่มองค์สมเด็จเจ้าเกาะยอ ผ้าทอเกาะยอ สีชมพู สำหรับห่มรูปปั้นเทพพนม ผ้าทอเกาะยอสีเขียว สำหรับห่มรูปปั้นท้าวจตุโลกบาล เส้นด้ายผ้าทอเกาะยอสีขาว นำมาถักเป็นเปียเส้นเล็กๆ จำนวน ๓ ม้วน ใช้เป็นสายสิญจน์สำหรับพระสงฆ์ในการประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ หรือพิธีกรรมทางศาสนา
 
 
  เครื่องสักการะบูชาในการประกอบพิธีสมโภชผ้า ประกอบด้วย
          - โต๊ะหมู่บูชา
          - ธูป
          - เทียน
          - ดอกไม้
          - หม้อน้ำพระพุทธมนต์
          - อาสนะสงฆ์
          - ทองคำเปลว
          - หมากพลูใส่ขันพร้อมเทียน ๑ เล่ม
เครื่องปัจจัยไทยธรรม
       หลังประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเสร็จสิ้น ชาวบ้านจะร่วมถวายปัจจัยไทยธรรมแก่พระสงฆ์
พุ่มผ้าป่า

        ก่อนถึงประเพณีแห่ผ้าขึ้นเขากุฎ ชาวบ้านในแต่ละหมู่บ้านจะร่วมกันทำบุญโดยจัดพุ่มผ้าป่าที่ศาลาประจำหมู่บ้าน ของแต่ละหมู่บ้าน หรือจุดที่ผู้ใหญ่บ้านแต่ละหมู่บ้านกำหนด เงินหรือปัจจัยที่ชาวบ้านร่วมทำบุญ จะนำมาเสียบไม้ปักไว้กับต้นกล้วยหรือพุ่มไม้เล็ก ๆ เพื่อนำเงินที่ได้ไปร่วมทอดผ้าป่าสมทบทุนในการบูรณะองค์พระเจดีย์เขากุฎ

ขั้นตอนการปฏิบัติพิธีสมโภชผ้า
       ขั้นตอนพิธีสมโภชผ้าในประเพณีแห่ผ้าขึ้นเขากุฎ มีการจัดกิจกรรม ๒ ช่วง โดยช่วงเช้าจัดการแห่ผ้ารอบเกาะ และช่วงค่ำจัดการสมโภชผ้า
- การแห่ผ้ารอบเกาะ
        การแห่ผ้ารอบเกาะ จัดในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ เวลา ๐๙.๐๐ น. ชาวบ้านในตำบล เกาะยอที่มีรถยนต์จะนำรถยนต์เข้าร่วมกับรถขบวนแห่ผ้าที่มีการประดับตกแต่ง เบญจาไว้ก่อนหน้านี้ ภายในแท่นเบญจาประกอบด้วย ผ้าทอเกาะยอซึ่งตั้งอยู่บนพานแว่นฟ้า เพื่อใช้สำหรับการสมโภชผ้า ขบวนแห่ผ้าจะเริ่มแห่ออกจากบริเวณศาลาพ่อท่าน แห่ไปยังเส้นทางต่าง ๆ รอบเกาะยอ
- การสมโภชผ้า
       ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ เวลา ๑๙.๐๐ น ชาวบ้านในตำบลเกาะยอทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน จะมารวมกันอีกครั้ง ณ ศาลาพ่อท่าน เพื่อร่วมปฏิบัติพิธีกรรมที่เรียกว่า สวดผ้า หรือ สมโภชผ้า ซึ่งมีพระสงฆ์เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมในการสวดเจริญพุทธมนต์ เพื่อความเป็น สิริมงคล หลังเสร็จสิ้นพิธีการสมโภชผ้า ชาวบ้านร่วมฉลองการสมโภชผ้า โดยจัดเลี้ยงอาหารที่ชาวบ้านนำมาสมทบ และจัดแสดงมหรสพหนังตะลุงให้ชาวบ้านในหมู่บ้านได้รับชม จุดประสงค์การแสดงหนังตะลุง เพื่อแสดงให้สมเด็จเจ้าเกาะยอได้ชม
พิธีห่มผ้าองค์พระเจดีย์
       เมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี ชาวบ้านในตำบลเกาะยอจะร่วมห่มผ้าองค์ พระเจดีย์เขากุฏและห่มผ้าสมเด็จเจ้าเกาะยอ เพื่อแสดงออกถึงการคารวะสมเด็จเจ้าเกาะยอ และคารวะสัญลักษณ์แทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
สถานที่
       เจดีย์เขากุฎ ตั้งอยู่บนยอดเขากุฎ สำนักสงฆ์เขากุฎ หมู่ที่ ๑ ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นสถานที่ชาวเกาะยอและผู้เคารพนับถือสมเด็จเจ้าเกาะยอมากราบไหว้ และทำพิธีห่มผ้าองค์พระเจดีย์กุฎ ในวันขึ้น ๑๕ เดือน ๖ ของทุกปี จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า องค์พระเจดีย์เขากุฎเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตามราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๒๐ ตอนที่ ๑๘๐ หน้าที่ ๑๔๘ ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ .๒๕๒๘
 
เครื่องสักการะบูชาที่ใช้ในการประกอบพิธีห่มผ้าองค์พระเจดีย์ ประกอบด้วย
     - โต๊ะหมู่บูชา
     - พระพุทธรูป ๑ องค์
     - แจกัน ๑ คู่ พร้อมดอกไม้ประดับ
     - กระถางธูป ๑ ใบ พร้อมธูปหอม ๓ ดอก
     - เชิงเทียน ๑ คู่ พร้อมเทียน ๒ เล่ม
     -  อาสนะสงฆ์
     - ด้ายสายสิญจน์
     - หม้อน้ำพระพุทธมนต์
     - ทองคำเปลว
     - ปิ่นโต ๑ เถา
     - เครื่องปัจจัยไทยธรรม
     - ผ้าห่มองค์พระเจดีย์
     - ผ้าห่มองค์สมเด็จเจ้าเกาะยอ
 
ขั้นตอนการปฏิบัติพิธีห่มผ้าองค์พระเจดีย์
       ขั้นตอนพิธีห่มผ้าองค์พระเจดีย์ ได้แก่ การแห่ผ้าขึ้นเขากุฎ การห่มผ้าองค์พระเจดีย์ การห่มผ้าสมเด็จเจ้าเกาะยอ การทอดผ้าป่า ตามลำดับขั้นตอนดังนี้
การแห่ผ้าขึ้นเขากุฎ
       เวลา ๐๙.๐๐ น ชาวบ้านเริ่มตั้งขบวนแห่ ณ บริเวณศาลาพ่อท่าน ซึ่งขบวนแห่ ประกอบด้วย รถที่ตกแต่งด้วยเบญจา รถขบวนกลองยาว และรถชาวบ้านที่เข้าร่วมขบวนแห่ ขบวนแห่จะเคลื่อนไปยังบริเวณเชิงเขากุฎ ขบวนจะแห่ผ้าพระบฏขึ้นไปยังลานประทักษิณบริเวณองค์พระเจดีย์เขากุฎ ซึ่งมีชาวบ้านที่มาร่วมประเพณีแห่ผ้าขึ้นเขากุฎรออยู่ก่อนแล้วชาวบ้านนำสิ่ง ของทั้งหมดในขบวนแห่ไปไว้ในบริเวณเต็นท์พิธี เพื่อเตรียมความพร้อมการทำพิธีห่มผ้าองค์พระเจดีย์ในลำดับถัดไป
 
 
การห่มผ้าองค์พระเจดีย์/การห่มผ้าสมเด็จเจ้าเกาะยอ
       วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ถือเป็นประเพณีแห่ผ้าขึ้นเขากุฎ ชาวบ้านที่อยู่ในตำบลเกาะยอ มีความเชื่อว่าการห่มผ้าองค์เจดีย์เขากุฎ เป็นการบูชาองค์สมเด็จเจ้าเกาะยอ
       เมื่อขบวนแห่ผ้าเคลื่อนมาถึงบริเวณลานประทักษิณเจดีย์เขากุฎก็จะเริ่มแห่ผ้า เวียนประทักษิณสามรอบ ในขณะที่ชาวบ้านเวียนประทักษิณอยู่นั้นพระสงฆ์ที่ร่วมพิธีก็สวดเจริญพุทธ มนต์ด้วยบทสวดชัยปริตร เพื่อความเป็นสิริมงคล
       ผู้ชายที่ได้รับการคัดเลือกทั้ง ๕ คน ต้องสวมใส่ชุดขาว เนื่องจากชาวบ้านมีความเชื่อว่าผู้ที่สวมชุดขาวถือว่าเป็นผู้ที่บริสุทธิ์ ขึ้นไปนำผ้าห่มองค์พระเจดีย์เขากุฎผืนเก่าที่ห่มองค์พระเจดีย์เมื่อปีที่ ผ่านรวมทั้งผ้าที่ห่มรูปปั้นเทพพนม และผ้าห่มรูปปั้นท้าวจตุโลกบาลนำลงมาเก็บไว้
       ชาวบ้านช่วยกันต่อสายสิญจน์จากมุมผ้าทั้งสี่ด้านให้มีจำนวนเส้นสายสิญจน์ เพิ่มขึ้นหลายๆ เส้น โดยผู้ชายทั้ง ๕ คน นำผ้าห่มองค์พระเจดีย์เตรียมโอบรอบฐานองค์พระเจดีย์เขากุฎ เพื่อให้ชาวบ้านผู้เข้าร่วมพิธีห่มผ้าองค์พระเจดีย์เขากุฎได้มีโอกาสห่มผ้า องค์พระเจดีย์ด้วย จากนั้นชาวบ้านจะช่วยกันชักดึงผ้าขึ้นห่มองค์ พระเจดีย์เขากุฎ ซึ่งชาวบ้านมีความเชื่อว่าการถือเส้นด้ายสายสิญจน์ก็เปรียบเสมือนตนเองได้ ถือผ้าร่วมห่มผ้าองค์พระเจดีย์เช่นกัน
 
 
       เมื่อพิธีห่มผ้าองค์พระเจดีย์เสร็จสิ้น ก็เริ่มพิธีห่มผ้าสมเด็จเจ้าเกาะยอ พิธีกรรมการห่มผ้าสมเด็จเจ้าเกาะยอ มีขั้นตอนรายละเอียด ดังนี้
       ผู้ชายที่แต่งกายด้วยชุดสีขาว นำผ้าที่ห่มสมเด็จเจ้าเกาะยอ ซึ่งชาวบ้านนำมาห่มเพื่อการแก้บนต่อสมเด็จเจ้าเกาะยอออกทั้งหมด ประธานในพิธีนำผ้าทอเกาะยอสีเหลืองผืนแรกห่มสมเด็จเจ้าเกาะยอ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออกในลำดับแรก และนำผ้าทอสีเหลืองอีกจำนวน ๓ ผืน ห่มพระพุทธรูปจนครบทั้ง ๔ ทิศ ถัดมาประธานในพิธีนำผ้าทอสีเขียว ๑ ผืน ห่มรูปปั้นท้าวจตุโลกบาลหนึ่งตน หลังจากนั้น ผู้ชายที่สวมชุดสีขาวก็จะนำผ้าทอสีเขียวทั้ง ๓ ผืน ขึ้นห่มรูปปั้นท้าวจตุโลกบาลต่อจากประธานในพิธีจนครบ และนำผ้าสีชมพูขึ้นห่มรูปปั้นเทพพนม ซึ่งอยู่บนฐานชั้นสองตรงมุมฐานขององค์พระเจดีย์เขากุฎจนครบทั้ง ๔ทิศ
 
 
พระสงฆ์ทำพิธีทางศาสนา ซึ่งเริ่มดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้
     - ประธานในพิธีจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ชาวบ้านผู้มาร่วมงานทุกคนพนมมือ ผู้ทำหน้าที่เป็นพิธีกรทางศาสนากล่าวนำบูชาพระรัตนตรัย
     - พิธีกรทางศาสนา กล่าวคำอาราธนาศีลห้า หลังจากนั้นพระสงฆ์ผู้เป็นประธานกล่าวให้ศีลห้าทีละข้อ ผู้ทำหน้าที่เป็นพิธีกรทางศาสนา กล่าวคำอาราธนาธรรม -ชาวบ้านเขียนชื่อบุคคลในครอบครัว หรือญาติพี่น้องที่เสียชีวิตลงในแผ่นกระดาษ แล้วนำไปใส่ลงในบาตรที่จัดเตรียมไว้
     - พระสงฆ์ที่เป็นประธานนำสวด พระสงฆ์รูปอื่น ๆ ก็กล่าวตามพร้อม ๆ กัน โดยพระสงฆ์จะเริ่มสวดบทต่าง ๆ ไปตามลำดับขั้นตอน
     - ชาวบ้านจะร่วมยกบาตรจากการทำบุญตักบาตร และภัตตาหารนำมาวางไว้ใกล้พระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์สวดเจริญพระพุทธมนต์จบแล้ว ผู้ทำหน้าที่พิธีกรทางศาสนานำถวายเครื่องจตุปัจจัยไทยธรรม
การทอดผ้าป่า
       สำหรับเครื่องบริขารการทอดผ้าป่า ประกอบด้วย ผ้าบังสุกุล 1 ผืน เป็นผ้าจีวร สบง หรือสังฆาฎิ เครื่องไทยธรรมซึ่งเป็นวัตถุสิ่งของที่สมควรแก่พระสงฆ์ใช้สอย ซึ่งไม่ขัดต่อ พระธรรมวินัย และปัจจัยพุ่มผ้าป่า
พิธีถวายผ้าป่า จะดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้
       - พิธีกรทางศาสนา เรียนเชิญประธานในพิธีจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย พิธีกรทางศาสนากล่าวคำอาราธนาศีลห้า พระสงฆ์ผู้เป็นประธาน กล่าวให้ศีลห้า
       - ประธานในพิธี และชาวบ้านผู้ร่วมพิธีรับศีลพร้อมกัน เจ้าหน้าที่นำผ้าสบง จีวร หรือผ้าไตร ไปให้ประธานในพิธีรับผ้าไตร ซึ่งมีคำถวายผ้าไตรติดอยู่ด้านบน ประคองไว้บนมือที่ประณมมือไว้นำกล่าว นะโม ตัสสะ ฯ 3 จบ
       - ประธานในพิธี กล่าวนำคำถวายผ้าป่า แล้วนำผ้าสบง จีวร หรือผ้าไตร ไปวางไว้ยังกองผ้าป่า โดยใช้พาดไว้บนกิ่งไม้ หรือวางไว้บนพานก็ได้ตามความเหมาะสม
       - พระสงฆ์ลงจากอาสนะสงฆ์ไปยังผ้าสบง หรือจีวร หรือผ้าไตรที่พาดไว้หรือวางบนโต๊ะ เพื่อพิจารณาและชักผ้าป่าตามธรรมเนียมประเพณีของพระสงฆ์ หลังจากนั้น พระสงฆ์กลับมานั่งยังอาสนะสงฆ์ ณ ที่เดิม
       - ประธานในพิธีถวายเครื่องบริขาร และจตุปัจจัยแก่พระสงฆ์
       - ประธานสงฆ์กล่าวสัมโมทนียกถา พระสงฆ์อนุโมทนา
       - ผู้ทำหน้าที่เป็นพิธีกรทางศาสนากล่าวลาพระรัตนตรัย ชาวบ้านร่วมกันประเคนภัตตาหารเพลแก่พระสงฆ์
การแก้บน
       การขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นวัฒนธรรมของคนไทยมาแต่โบราณ ชาวบ้านตำบลเกาะยอ มีความเชื่อว่าสมเด็จเจ้าเกาะยอเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญของชาวบ้านใน ตำบลเกาะยอ และพื้นที่ใกล้เคียง สมเด็จเจ้าเกาะยอจึงเป็นที่พึ่งทางจิตใจ โดยชาวบ้านจะบนบานต่อสมเด็จเจ้าเกาะยอ ให้ประสบกับสิ่งที่ปรารถนา ครั้นคำอธิษฐานประสบดังหวังก็ต้องแก้บนด้วยอาหาร ปิดทองคำเปลว จุดประทัดถวาย หรือสิ่งของอื่นตามที่ได้บนบานไว้
ขั้นตอนการทำพิธีแก้บน ดังนี้
       - จุดธูปอย่างละ ๑ ดอก นำไปปักไว้บนอาหาร หรือเครื่องเซ่นไหว้ทุกชนิดที่นำมาแก้บน ซึ่งการจุดธูป ๑ ดอก ใช้สำหรับเซ่นผีหรือวิญญาณทั้งหลาย
       - นำเครื่องเซ่นไหว้ทั้งหมด ซึ่งประกอบไปด้วยอาหารคาว อาหารหวาน ผลไม้ ตั้งบริเวณหน้ารูปสมเด็จเจ้าเกาะยอ จุดเทียน ๒ เล่ม ธูป ๑๖ ดอก กล่าวคำบูชาสมเด็จเจ้าเกาะยอ
       - ทำการบอกกล่าว หรือการพูดเรื่องที่ตนเองได้ประสบความสำเร็จต่อหน้ารูปสมเด็จเจ้าเกาะยอ ตามที่ได้บนบานไว้ต่อสมเด็จเจ้าเกาะยอ เพื่อแก้บนต่อสมเด็จเจ้าเกาะยอขอให้ขาดสินบน หรือที่ชาวเรียกว่า ขาดเหฺมฺรย หมายถึง ไม่มีสัญญาต่อกัน หลังจากนั้น ปิดทองคำเปลวสมเด็จเจ้าเกาะยอ และจุดประทัดถวาย เพื่อให้สมเด็จเจ้าเกาะยอได้รับทราบว่าการมาแก้บนครั้งนี้ รอจนธูปที่ปักบนอาหารหรือเครื่องเซ่นไหว้ไหม้จนเกือบหมดก้านธูป ก็ถือว่าการแก้บนได้เสร็จสิ้น ชาวบ้านก็จะนำอาหารที่แก้บนเหล่านั้นมานั่งรับประทานร่วมกัน เนื่องจากมีความเชื่อว่า การได้รับประทานอาหารที่นำมาแก้บนจะเป็นสิริมงคลต่อชีวิต
 
 
ช่วงเวลาที่จัด
        จัดขึ้นในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖
 
สถานที่
        ณ บริเวณศาลาพ่อท่าน หมู่ที่ ๓ ตำบลเกาะยอ และเจดีย์เขากุฎ สำนักสงฆ์เขากุฎ หมู่ที่ ๑ ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
 
คุณค่า/ความเชื่อ
        ประเพณีแห่ผ้าขึ้นเขากุฎของชาวบ้านตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา มีคุณค่าทางด้านความเชื่อ เช่น ความเชื่อเกี่ยวกับศาสนพิธี การประกอบพิธีกรรม ความเชื่อเรื่องเกี่ยวกับวิญญาณบรรพบุรุษ ความเชื่อเกี่ยวกับพระรัตนตรัย โดยการแสดงออกถึงความเคารพ ความศรัทธาต่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่มีความสำคัญเป็นที่พึ่งทางจิตใจ ในการประกอบพิธีแห่ผ้าขึ้นเขากุฎ ชาวบ้านมีความเชื่อว่าการกราบไหว้องค์พระเจดีย์เขากุฎ หรือการกราบไหว้สมเด็จเจ้า เกาะยอ เปรียบเสมือนการได้กราบไว้บูชาพระพุทธองค์ การนำผ้าขึ้นห่มองค์พระเจดีย์เขากุฎเปรียบเสมือนการได้ใกล้ชิดองค์พระสัมมา สัมพุทธเจ้า จะทำให้ประสบแต่สิ่งที่ดีงามเป็นมงคลต่อตนเองและครอบครัว
แหล่งเข้าถึงข้อมูล
        องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยอ ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โทรศัพท์ ๐-๗๔๔๕-๐๔๔๓ หรือ ๐-๗๔๔๕-๐๕๔๐
 



ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว อื่น ๆ :


 

สถิติผู้เข้าชม

สถานที่ตั้ง

ติดตามข่าวสาร

     
 ผู้ชม(วิว) 161
 ผู้ชม(IP) 14
 เมื่อวานนี้ 121
 เดือนนี้ 246
 เดือนที่แล้ว 4516
 ปีนี้ 44921
 ปีที่แล้ว 84240

 ทีมงาน นิพนธ์

 อบจ. สงขลา

 แผนผังเว็บไซต์