อบจ.สงขลา

หน้าแรก / ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว  

 

ประเพณีสมโภชแม่โพสพ (ทำขวัญข้าว) :

ดู 922 | วันที่โพส 2017-07-13 08:47:45

 
 

                     

ประเพณีสมโภชแม่โพสพ (ทำขวัญข้าว)

               

                   

 

ประวัติความเป็นมา

          การสมโภชแม่โพสพเป็นภูมิปัญญาและพิธีกรรมที่ได้รับการสืบทอดกันมาเป็นระยะเวลายาวนานของชาวนาในอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา จัดเป็นภูมิปัญญาสั่งสม ซึ่งแต่เดิมแต่ละครอบครัวจะประกอบพิธีกรรมเป็นการเฉพาะครอบครัว โดยเชิญหมอทำขวัญข้าวที่เคารพนับถือ หรือคนเฒ่าคนแก่ในตระกูล เป็นผู้ทำพิธี ในสมัยโบราณส่วนใหญ่ผู้นำตระกูล หรือผู้นำครอบครัวสามารถทำพิธีได้ เนื่องจากมีตำราสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ต่อมาเมื่อระบบการทำนาเกิดการเปลี่ยนแปลงจากการทำเพื่อยังชีพเป็นการทำเชิงพาณิชย์มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาในกระบวนการผลิตทำให้ภูมิปัญญานี้ลดน้อยลง ปัจจุบันจึงเกิดการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่โดยมีการเปลี่ยนแปลงภูมิปัญญา จากที่ทำเฉพาะครอบครัวก็ทำร่วมกันที่ศูนย์รวมจิตใจหรือสถานที่สำคัญ คือ วงเวียนแม่โพสพของอำเภอระโนด โดยทุกตำบลทุกหมู่บ้านในอำเภอระโนดจะรวบรวมข้าวแล้วนำมาทำพิธีร่วมกันโดยใช้หมอทำขวัญข้าวคนเดียว

 

 

          การทำขวัญข้าว ตามประวัติบอกเล่าสืบต่อกันมาแต่โบราณของชาวลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เกิดขึ้นเนื่องจากเกิดมีปัญหาถามว่าระหว่างพระพุทธเจ้ากับแม่โพสพนั้นใครจะมีบุญคุณมากกว่ากัน ต่างก็มีการถกเถียงกันผลที่สุดมนุษย์ก็ให้แม่โพสพเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แม่โพสพทั้งเสียใจและน้อยใจเป็นอย่างมากพลางกล่าวว่า ตั้งแต่รักษามนุษย์มา มนุษย์ได้มีข้าวกิน ถึงแม้ว่าสิ่งอื่น ๆ จะมีพระคุณ แต่แม่โพสพก็ไม่ควรที่จะพ่ายแพ้แก่ใครๆ กล่าวจบ แม่โพสพก็หลีกหนีไปอาศัยอยู่ที่ภูเขาทบกัน ตั้งแต่นั้นมาชาวบ้านต่างก็พากันได้รับความ เดือดร้อนร้องห่มร้องไห้ เนื่องจากต้นข้าวเมล็ดลีบเสียหายหมด เกิดความอดอยากขาดแคลนอาหารไปทั่วทุกหนทุกแห่ง จนกระทั่งมีสัตว์ ๒ ตัว คือ ปลาสลาดและนกคู้ลารับอาสาไปรับแม่โพสพที่ภูเขาทบกัน ปลาสลาดสมัยก่อนลำตัวจะกลม แต่พอเดินทางเข้าไปคาบเอาแม่โพสพซึ่งเป็นช่วงที่ภูเขากระทบกันพอดีและทับเอาลำตัวปลาสลาดจนตัวแบน จากนั้นปลาสลาดก็คาบเมล็ดข้าวหรือแม่โพสพออกมาพ้นจากภูเขาทบกันได้ นกคู้ลาจึงฉวยโอกาสแย่งคาบเมล็ดข้าวพาบินหนีมาจนมาถูกพายุใหญ่ก็ขอร้องให้ช่วย ปลาสลาดซึ่งว่ายน้ำตามมาทันพอดีขณะที่นกคู้ลาอ้าปากจะขอช่วยทำให้เมล็ดข้าวหล่นออกจากปากของนกคู้ลา ปลาสลาดก็รับไว้แล้วคาบมาจนกลับมาถึงที่เดิมนำมามอบให้พระพุทธเจ้าแจกจ่ายให้ประชาชนนำไปปลูกขยายพันธุ์ต่อไป ตั้งแต่นั้นมามีการทำขวัญข้าวเพื่อรำลึกถึงบุญคุณของแม่โพสพ สืบมาจนกระทั่งปัจจุบัน และปลาสลาดก็มีลำตัวแบนมาจนถึงบัดนี้

          ดังนั้นเพื่อเป็นการทำให้แม่โพสพพอใจและอยู่กับชาวนาต่อไป จึงได้มีการทำพิธีทำขวัญข้าว หรือพิธีสมโภชแม่โพสพ เป็นพิธีบวงสรวงแม่โพสพผู้เป็นวิญญาณแห่งข้าว โดยเชื่อว่าถ้าข้าวมีขวัญสิงอยู่ประจำ ไม่หลีกลี้ไปไหน

 

ความมุ่งหมายของประเพณี

 

          ๑. เป็นการขอบคุณแม่โพสพที่ให้ความอุดมสมบูรณ์แก่ผืนนา เมื่อชาวนาเกี่ยวข้าวแล้วเหลือข้าว ไว้ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นขวัญข้าว

          ๒. เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับชาวนาให้รู้ว่าการทำนาปลูกข้าวของตนนั้นจะไม่สูญเปล่าเพราะแม่โพสพเป็นผู้ดูแล

          ๓. เป็นการสร้างความสมัครสมานสามัคคี ร่วมสนุกสนานที่ทุกคนเหนื่อยจากการทำนาและประสบความสำเร็จด้วยดี

 

 

ขั้นตอนประเพณี

          การเลือกวันทำพิธี

          การสมโภชแม่โพสพของชาวอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา จะทำหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านเชื่อว่าการสมโภชแม่โพสพเป็นการประกอบพิธีสดุดีแม่โพสพ เพื่อความเป็นสวัสดิมงคล และเพื่อแสดงความชื่นชมยินดีที่ได้ทำนาประสบผลสำเร็จ ส่วนใหญ่การทำขวัญข้าวมักจะทำในเดือน ๖ ถ้าเป็นข้างขึ้นมักจะทำในวันคี่ เช่น ๑๓ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ถ้าเป็นข้างแรมใช้วันคู่ เช่น ๘ ค่ำ หรือ ๑๔ ค่ำ แต่ส่วนมากทำในวันธรรมสวนะโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันพระ แต่ก่อนนิยมทำในคืนวันเพ็ญ การทำขวัญข้าวจะต้องไม่เลือกเอาวันที่ถูกผีเสื้อข้าว คือ วันที่ตำราระบุว่า ถ้าหว่านปักดำหรือเก็บเกี่ยวในวันนั้นจะถูกผีเสื้อข้าวกินหมด

 

          การทำขวัญข้าวหรือสมโภชแม่โพสพแต่เดิมจะทำในช่วงพลบค่ำหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า เวลานกชุมรัง ในวันอังคาร วันพฤหัสบดี และวันเสาร์ เว้นวันอาทิตย์ วันจันทร์  วันพุธ วันศุกร์ และวันทักทิน (ทักทิน มีคำนิยามว่า "วันชั่วร้าย" คำนี้มีใช้ในตำราหมอดู เนื่องในการประกอบการหาฤกษ์มงคลต่างๆ จำนวนวันทักทินอันเป็นวันห้าม มิให้ทำการมงคล) คือ วันขึ้นหรือวันแรมที่เลขวันและเลขเดือนตรงกัน เช่น เดือน ๙ ขึ้น ๙ ค่ำ แต่ในปัจจุบันอำเภอระโนดได้จัดงานพิธีสมโภชแม่โพสพประจำปี โดยให้ประชาชนผู้สนใจจากหมู่บ้านและตำบลต่างๆ ร่วมพิธีด้วยจึงได้ปรับเปลี่ยนมาจัดในช่วงกลางวัน และทำในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี

          เครื่องเซ่นสังเวย

      ประเพณีสมโภชแม่โพสพ เกิดจากความเชื่อกันว่ามีเทพเจ้าเป็นเจ้าของมีอำนาจในการดลบันดาลให้ผู้ปลูกได้ผลผลิตมากหรือน้อย คือ " เจ้าแม่โพสพ " ฉะนั้นจะต้องทำพิธีถวายเครื่องเซ่นสังเวยให้แม่โพสพ สำหรับเครื่องเซ่นสังเวยที่นำมาใช้ในการประกอบพิธี ได้แก่

          

               หัวหมู จำนวน ๑ หัว หรือมากกว่านั้น

               ปลามีหัวมีหาง ๑ คู่

               ไก่ต้มตัวผู้ ๑ ตัว

                บายศรีปาก ๑ คู่ ในบายศรีปากชามจะมีขนมต่างๆ ได้แก่ ขนมพอง ขนมลา ขนมกง ถั่ว งา ข้าวตอก นอกจากนี้ยังมีไข่เสียบที่ยอดบายศรี หรืออาจมีการนำเงินไปเสียบที่ยอดบายศรี และปักเทียนขาวจำนวน ๑ เล่มลงไปในบายศรีด้วย การจัดบายศรีจะจัดเป็นคู่โดยมักจะใช้ตั้งแต่ ๑-๓ คู่ หรือจะจัดเป็นกี่คู่ก็แล้วแต่สามารถกระทำได้ทั้งสิ้นแล้วแต่ความสะดวกของหมอ

                ขนมต้มแดงขนมต้มขาว เป็นสิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้ในพิธี

                มะพร้าวอ่อน จำนวน ๓ ลูก หรือมากน้อยกว่านั้น

                ผลไม้ต่างๆ ตามสมควร มักจะนิยมจัดวางให้เป็นเลขคี่ ๓ ๕ ๗ หรือ ๙ อย่าง ผลไม้ที่นิยมใช้ เช่น กล้วยน้ำว้า อ้อย ส้มเขียวหวาน ส้มโอ และขนุน เป็นต้น

                ข้าวตอก ถั่ว งา เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในพิธี

                ดอกไม้ ๗ อย่าง ส่วนใหญ่จะใช้ดอกไม้ที่สามารถหาได้บริเวณบ้าน เช่น ดาวเรือง ดอกเข็ม บานไม่รู้โรย และบานชื่น เป็นต้น

                อาหารคาว ๓ ๗ ๙ หรือ ๑๒ อย่าง

                หมาก พลู บุหรี่ แสดงถึงการรับแขก และเป็นสิ่งที่คนโบราณนิยมรับประทาน

                อาหารหวาน เช่นเดียวกับอาหารคาว มักจะใช้ขนมที่มีชื่อมงคล เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน ขนมชั้น และขนมถ้วยฟู เป็นต้น

                ผ้าขาว ใช้ผ้าขาวขนาดสี่เหลี่ยมจัตุรัสสำหรับทำเพดานบนเพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตขณะที่อัญเชิญลงมาเข้าร่วมพิธี

                อุปกรณ์ที่ใช้ทำนา หรือซากสัตว์ เช่น เชือกวัวขาด เขาวัว คราด ไถ เป็นต้น การตั้งเครื่องบูชาอาจตั้งมากหรือน้อยกว่าที่กล่าวข้างต้นนี้ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสะดวกของหมอแต่ละท่าน

                ข้าวที่ผ่านการเก็บเกี่ยว (จะเป็นมัดหรือเลียงก็ได้) เป็นตัวแทนของข้าวทั้งหมด

 

 

 

          

 

          ในพิธีกรรมใดๆ ก็ตามเมื่อมีการประกอบพิธีสิ่งสำคัญที่จะขาดเสียไม่ได้คือเครื่องบูชาและเครื่องใช้ประกอบพิธีต่างๆ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่ใช้ประกอบอยู่ในพิธีกรรมนั้นเป็นสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ใช้แทน สิ่งต่างๆ เริ่มตั้งแต่ ผู้ประกอบพิธี ซึ่งหมายถึงหมอทำขวัญ จะทำหน้าที่เป็นตัวแทน เครื่องบูชาเหล่านี้มีความหมาย แฝงอยู่เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้ในการประกอบพิธีจะช่วยให้เข้าใจถึงพิธีกรรมนั้นๆ ได้ดียิ่งขึ้น สัญลักษณ์ในพิธีสมโภชแม่โพสพ ได้แก่

          -  หัวหมู เป็นการบูชาบรรพบุรุษ

          -  ไก่ต้ม (ใช้ไก่ตัวผู้) ใช้เซ่นสังเวยวิญญาณ

          -  ปลามีหัวมีหาง แทนความอุดมสมบูรณ์

          -  การนุ่งห่มสีขาว แสดงถึงความบริสุทธิ์ เป็นสีของพราหมณ์

          -  อาหารคาวหวาน เป็นเครื่องบูชา เพื่อถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์

          -  ดอกไม้ แสดงถึงความเคารพ เป็นเครื่องบูชาที่แสดงถึงความอ่อนน้อม อ่อนโยน

          -  ธูป ๓ ดอก เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

          -  เทียน เป็น สัญลักษณ์ทางศาสนา แสงเทียนที่เป็นประกายแสดงถึงจิตอันสว่างไสว และสมาธิ

          -  ข้าวตอก แสดงถึงความงอกเงยของความรู้

          -  ผ้าขาว ใช้ทำฝ้าเพดานเปรียบเสมือนเครื่องกั้นระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์ เป็นที่สถิตของเทวดาเมื่อกล่าวอัญเชิญลงมายังพิธี

          -  มะพร้าวอ่อน แสดงถึงความบริสุทธิ์

          -  ขนมต้มแดงขนมต้มขาว เป็นเครื่องบูชาครู

          -  กล้วย อ้อย ขนุน เป็นสิ่งที่คนโบราณกินเพื่อดำรงชีพ

          -  หมาก พลู และบุหรี่ เป็นสิ่งที่คนโบราณนิยมกินและใช้รับแขก

          -  น้ำชา นมสด และน้ำผึ้ง เหล้า เป็นเครื่องบูชาพระฤๅษีต่างๆ

          -  ไข่เสียบยอด หมายถึงการให้กำเนิดชีวิต

          -  เงินติดเทียน เป็นเครื่องบูชา

          -  อุปกรณ์ทำนา แทนเครื่องประกอบอาชีพ เพื่อความเป็นสิริมงคล

          -  ทอง แทนสิ่งมีค่า

          -  ใบไม้และผลไม้ ประจำท้องถิ่น เช่น ใบชุมเห็ด ใบชุมแสง ฝรั่ง กล้วย อ้อย ย่านลิเพา เป็นต้น เป็นสัญลักษณ์แทนความอุดมสมบูรณ์ เป็นต้น

 

ขั้นตอนการทำพิธี

          การทำพิธีสมโภชแม่โพสพของชาวอำเภอระโนด จะมีพิธีสงฆ์ และพิธีพราหมณ์ โดยหมอซึ่งทำขวัญข้าวจะเป็นคนเฒ่าคนแก่ในพื้นที่ โดยมีขั้นตอนดังนี้ การทำพิธีจะเริ่มในช่วงเช้า โดยคณะผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนชาวนา และประชาชนทั่วไป จะมารวมกันเพื่อร่วมทำพิธีสมโภชแม่โพสพ และทำขวัญข้าว ณ บริเวณวงเวียนแม่โพสพ หน้าวัดราษฏร์บำรุง เขตเทศบาลตำบลระโนด อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา พราหมณ์ทำขวัญข้าว (หมอทำขวัญข้าว) จะนำอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งได้เตรียมไว้ คือ เครื่องเซ่นสังเวยแม่โพสพ สำหรับเครื่องเซ่นสังเวยที่นำมาใช้ในการประกอบพิธี ได้แก่ อาหารคาว หวาน เครื่องบูชา วางไว้บนโต๊ะ ในการตั้งเครื่องบูชาอาจตั้งมากหรือน้อยกว่าที่กล่าวข้างต้นนี้ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสะดวกของหมอแต่ละคน แต่สิ่งที่จะขาดไม่ได้ คือ ข้าวที่ผ่านการเก็บเกี่ยวแล้วจะเป็นมัดหรือเลียงก็ได้ เป็นตัวแทนของข้าวทั้งหมด แล้วผูกด้ายมาวงล้อมรอบขวัญข้าว วางสายสิญจน์รอบเครื่องบายศรี และเครื่องบูชาในพิธี

          ในเวลา ๐๙.๐๐ น. ก็จะเริ่มพิธี โดยประธานในพิธี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ฯลฯ ที่อำเภอระโนดได้เชิญมาเป็นประธานในพิธี วางพวงมาลัยหน้าแม่โพสพ เพื่อแสดงความเคารพต่อแม่โพสพ พร้อมด้วยตัวแทนของคณะผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นวางพวงมาลัย

          ในการประกอบพิธีกรรมหมอจะแต่งกายอย่างประณีต คือ นุ่งขาวห่มขาว สวมชุดปกติแต่ห่มเฉียงด้วยผ้าขาวหรือผ้าขาวม้า หรือไม่ห่มขาวเลยขึ้นอยู่กับการถือปฏิบัติของหมอแต่ละคน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นชุดที่มีสีอ่อนๆ หมอจะนั่งอย่างสำรวม เมื่อเตรียมเครื่องบูชาเรียบร้อยแล้ว หมอจะสำรวจความเรียบร้อยของเครื่องบูชาอีกครั้ง เพื่อไม่ให้มีอะไรขาดตกบกพร่อง เมื่อสำรวจเรียบร้อยแล้ว จึงเริ่มเชิญประธานในพิธีจุดธูปเทียนบูชาเครื่องสังเวย โดยแจกจ่ายธูปให้ผู้เข้าร่วมงานในพิธีปักธูปบนเครื่องสังเวยทุกชนิดที่มีอยู่

          หลังจากนั้นหมอจะประกอบพิธี หมอจะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเพื่อเชื่อมระหว่างเทพเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์กับมนุษย์ โดยใช้การสวดบทชุมนุมเทวดา เพื่อเชิญเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลงมาในพิธี แล้วจึงสวด พระคาถาต่างๆ ตลอดจนถึงคำอัญเชิญ โองการต่างๆ ซึ่งคาถาเหล่านี้มีทั้งที่เป็นภาษาบาลี และเป็นภาษาไทย ในการสวดมนต์หมอจะสวดเสียงดังกังวานและในส่วนของบทอัญเชิญที่เป็นภาษาไทย หมอทำขวัญข้าวจะอ่านโดยใช้ทำนองคล้ายทำนองเสนาะ มีการทอดเสียง เปล่งเสียง และเอื้อนซึ่งมีความไพเราะ และบางช่วงหมอจะสวดโดยไม่เปล่งเสียงออกมา เพียงแต่ทำปากขมุบขมิบเท่านั้น ซึ่งหมอทำขวัญข้าวจะกระทำพิธีกรรมต่างๆ อย่างสำรวมจนจบพิธี

 

 

          หลังจากเสร็จพิธีบวงสรวงแม่โพสพและทำขวัญข้าว ก็จะเริ่มพิธีสงฆ์ โดยมีการเตรียมอุปกรณ์ที่ประกอบไปด้วย โต๊ะหมู่บูชา เพื่อตั้งพระพุทธรูป ดอกไม้ ธูปเทียนสำหรับไหว้พระ นิมนต์พระสงฆ์ ๙ รูป เพื่อสวดเจริญพระพุทธมนต์ เครื่องถวายจตุปัจจัยไทยทาน และภาชนะสำหรับให้พระสงฆ์ทำน้ำพระพุทธมนต์ เมื่อประชาชนและแขกผู้มีเกียรติ พร้อมกัน ณ เต๊นท์พิธี ซึ่งอยู่ด้านข้างของวงเวียนแม่โพสพ ประธานในพิธีจุดธูปเทียนที่โต๊ะหมู่บูชาเพื่อบูชาพระรัตนตรัย ศาสนพิธีกรอาราธนาศีล ประธานสงฆ์ให้ศีล ทุกคนรับศีลจบศาสนาพิธีกรอาราธนาพระปริตร พระสงฆ์เริ่มสวดเจริญพระพุทธมนต์มาถึงบท อะเสวนา จะ พาลานัง...ประธานจุดเทียนที่ภาชนะน้ำมนต์ แล้วยกประเคนประธานสงฆ์ พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบ ประธานและแขกผู้มีเกียรติและประชาชนร่วมถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์ ประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์ พระสงฆ์อนุโมทนา ประธานกรวดน้ำ รับพร พระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ผู้ที่อยู่ในพิธีทุกคน เป็นอันเสร็จพิธีทางสงฆ์ หลังจากนั้นประธานร่วมรับประทานอาหารร่วมกับชาวบ้านเป็นอันเสร็จพิธี ชาวบ้านก็จะนำข้าวที่ผ่านการทำพิธีเสร็จแล้วกลับไปบ้านเพื่อเก็บไว้เป็นสิริมงคลและเก็บไว้หว่านร่วมกับข้าวปลูกในครั้งต่อไปโดยเชื่อว่าจะทำให้ข้าวบริบูรณ์ได้ผลดี

 

ช่วงเวลาที่จัด

          การทำขวัญข้าวมักจะทำในเดือน ๖ ถ้าเป็นข้างขึ้นมักจะทำในวันคี่ เช่น ๑๓ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ถ้าเป็นข้างแรมใช้วันคู่ เช่น ๘ ค่ำ หรือ ๑๔ ค่ำ แต่ส่วนมากในวันธรรมสวนะโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันพระ แต่ในปัจจุบันอำเภอระโนดได้จัดงานพิธีสมโภชแม่โพสพประจำปี โดยให้ประชาชนผู้สนใจจากหมู่บ้านและตำบลต่างๆ ร่วมพิธีด้วย จึงได้ปรับเปลี่ยนเวลามาจัดในช่วงกลางวัน และจัดในเดือนเมษายน ของทุกปี

 

สถานที่

          ที่บริเวณวงเวียนแม่โพสพ หน้าวัดราษฏร์บำรุง เทศบาลตำบลระโนด อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา

 

คุณค่า/ความเชื่อ

 

คุณค่า

 

๑. คุณค่าของภูมิปัญญาต่อผู้ปฏิบัติ

          ๑.๑ มีผลทางด้านจิตใจ ความรู้สึกสบายใจ มีความมั่นใจ มีกำลังใจที่ได้กระทำในสิ่งที่ตนเชื่อถือ และเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง โดยเฉพาะ “แม่โพสพ” ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นวิญญาณแห่งข้าว คอยคุ้มครองดูแลอำนวยความสมบูรณ์ให้ข้าวไว้เป็นอาหารเลี้ยงผู้คน จะต้องประกอบพิธีเซ่นสรวงทำขวัญแม่โพสพเพื่อให้แม่โพสพพึงพอใจและบันดาลให้ข้าวออกรวงงอกงามอุดมสมบูรณ์ ทำนาได้ผลมีข้าวกินตลอดปี ทำให้ชาวนามีความสุขความสบายใจมีกำลังใจในอันที่จะประกอบอาชีพทำนา แล้วยังมีความอิ่มเอมใจที่ได้สืบทอดประเพณีของบรรพบุรุษให้คงอยู่ตลอดไป

          ๑.๒ ผลทางด้านพฤติกรรม การปฏิบัติตามความเชื่อและพิธีกรรม ยังช่วยส่งเสริมและเสริมสร้างลักษณะนิสัยที่ดีแก่ผู้ปฏิบัติ การที่บรรพบุรุษนำความเชื่อมาใช้ประโยชน์โดยวิธีขู่ให้กลัวหรือหลอกให้กลัว นับว่าเป็นวิธีแยบคายมาก ความเชื่อบางอย่างอาจจะมองว่างมงายแต่ส่วนใหญ่มักมีเจตนาแอบแฝงอยู่ เพื่อประโยชน์ในการอบรมสั่งสอน ปลูกฝังจริยธรรมให้แก่ลูกหลาน ความเชื่อของชาวบ้านที่เกี่ยวกับขวัญข้าวซึ่งเป็นข้อห้ามมีอยู่มากมาย เช่น มิให้ตากข้าวกับกระด้ง มีความหมายเพื่อให้ลูกหลานรู้จักใช้ภาชนะที่เหมาะสม เนื่องจากกระด้งเป็นภาชนะสานด้วยไม้ไผ่ที่เหลาจนบางแล้วจึงนำมาสานเป็นภาชนะทรงกลมหากนำไปใส่ข้าวตากแดดก็จะทำให้กระด้งกรอบและพังในที่สุด มิให้คดข้าวจนจวักหัก เป็นการสอนให้มีความระมัดระวังในการใช้สิ่งของ และมีความรอบคอบ มีสติทุกครั้งเวลาจะทำอะไร เพราะหากเสียหายไปแล้วก็จะทำให้เสียเวลาในการซื้อหา และเสียทรัพย์โดยประมาท มิให้นวด ฝัดข้าวตรงประตูบันได บันไดบ้านเป็นทางเดินที่มีการผ่านเข้าออกอาจจะเป็นการ กีดขวางทางเดินหรือทำให้การทำงานขาดความต่อเนื่อง ไม่มีสมาธิในการทำงาน เนื่องจากต้องคอยหลบคนที่ใช้บันได และบางครั้งอาจจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่นที่ใช้บันได เช่น เม็ดข้าวเข้าตา เป็นต้น มิให้ตักข้าวเป็นบ่อ ตรงกลางหม้อข้าว ต้องการสอนให้สำรวมกิริยามารยาท และรู้จักประมาณ คนที่มารับประทานทีหลังอาจจะรังเกียจ และดูไม่สมควร มิให้ตักหรือกินข้าวหกเรี่ยราด สอนให้เป็นคนระมัดระวัง รู้จักคุณค่าของอาหาร รู้จัก ใช้สติก่อนที่จะทำอะไร เพราะหากตักข้าวหกเรี่ยราดไปก็จะสูญเสียประโยชน์รับประทานไม่ได้ เป็นการเพาะนิสัยเผลอเรอ ทำงานอย่างสะเพร่า เป็นต้น

          ๑.๓ ผลทางด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว เป็นความผูกพันระหว่างสมาชิกในครอบครัว ได้แก่ ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ และลูก เป็นสัมพันธภาพที่ก่อให้เกิดความรักความเข้าใจ ความอบอุ่น พร้อมที่จะให้ความร่วมมือร่วมใจช่วยเหลือกันในการทำมาหากิน การปฏิบัติตามความเชื่อและการประกอบพิธีกรรม จะช่วยส่งเสริมสัมพันธภาพภายในครอบครัวได้มากมายหลายอย่าง เช่น การทำขวัญข้าวเมื่อจัดให้มีพิธีกรรมเกิดขึ้น สมาชิกทุกคนในครอบครัวจะต้องช่วยเหลือกัน ได้แก่การเตรียมสถานที่ จัดหาอุปกรณ์เครื่องใช้ในพิธี ติดต่อประสานงานกับหมอผู้ทำพิธี สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนสร้างสัมพันธภาพที่ดีภายในครอบครัวและชุมชน

๒. คุณค่าต่อสังคมและวัฒนธรรม

          งานประเพณีทำขวัญข้าว ก่อให้เกิดความรู้สึกเป็นกลุ่มพวกเดียวกันต้องพึ่งพาอาศัยกันทางสังคม เศรษฐกิจ และการปกครอง จนเกิดความมั่นคงและความเป็นปึกแผ่นทางสังคมร่วมกันทำให้เกิดความรัก ความสามัคคีในหมู่คณะ มีการสืบทอด ภูมิปัญญา มีการสืบทอดกันมาอย่างไม่ขาดสาย นอกจากนั้นการแสดงออกถึงภูมิปัญญาชาวบ้านที่เป็นผลงานทางด้านความคิดและวิธีการปฏิบัติ ตลอดจนคิดค้นเทคนิควิธีการถ่ายทอด ภูมิปัญญาเหล่านั้นด้วยวิธีการอันแยบยล ให้ผู้สืบทอดค่อยๆ ปรับเปลี่ยนตามและเพิ่มพูนขึ้นจนกลายเป็นผู้สืบทอดให้แก่คนรุ่นต่อๆ ไป และยังเป็นการอบรมบ่มเพาะนิสัยที่ดีงามแก่สังคม ความเชื่อและพิธีกรรมเป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านประเภทหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อความคิดและพฤติกรรมของชาวบ้าน ความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ ที่ปรากฏในพิธีทำนา เช่น แรกไถ แรกหว่าน แรกปักดำ แรกเก็บ ทำขวัญข้าว เป็นต้น ความเชื่อและพิธีกรรมดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการสร้างหรือปลูกฝังลักษณะนิสัยที่ดีงามให้เกิดขึ้นแก่คนในสังคม เช่น ความกตัญญูรู้คุณ ความละเอียดรอบคอบ ความกระตือรือร้น ความประหยัดและความขยันหมั่นเพียร การปลูกฝังความเชื่อและพิธีกรรมให้ผู้คนได้ยึดถือปฏิบัติตาม และเพื่อให้เกิดการยอมรับของคณาญาติและสังคม การอบรมบ่มเพาะจึงค่อยเป็นค่อยไป มีลักษณะเป็นการตัดแต่งไม้อ่อนค่อยๆปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการ และค่อยๆ ทวีขึ้นจนกลายเป็นบุคคลที่สังคมปรารถนา

 

ความเชื่อ

ความเชื่อที่ปรากฏอยู่ในประเพณีสมโภชแม่โพสพ แบ่งประเภทของความเชื่อเป็น ๒ ประเภท คือ

๑. ความเชื่อทางพระพุทธศาสนา

          ศาสนาพุทธนั้นมีความเชื่อว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว หมั่นทำความดีจะได้ขึ้นสวรรค์ ถ้าทำความชั่วจะตกนรก” และความเชื่ออันเนื่องมาจากศาสนาย่อมมีผลไปถึงพิธีกรรมต่าง ๆ ในสังคม และเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตของคนในสังคมด้วย ในประเพณีสมโภชแม่โพสพอำเภอระโนด แม้จะเป็นพิธีที่บวงสรวงแม่โพสพ ซึ่งเป็นความเชื่อในสิ่งที่มองไม่เห็น แต่ได้นิมนต์พระสงฆ์ทางพระพุทธศาสนา ร่วมพิธีด้วย สะท้อนให้เห็นความเชื่อในเรื่องพระพุทธศาสนาที่เข้ามามีบทบาทและผูกพันกับวิถีชีวิตที่ฝังรากลึกและแนบแน่น ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าการจัดพิธีกรรมที่มีความศักดิ์สิทธิ์จะมีบทสวดหรือการกล่าวอ้างถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ การบูชาพระรัตนตรัย การอัญเชิญพระอรหันต์ ร่วมกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ด้วยเสมอ

๒. ความเชื่อพื้นบ้าน

          ความเชื่อพื้นบ้านนั้นเป็นความเชื่อที่มีปรากฏในท้องถิ่นต่างๆ และความเชื่อบางอย่างได้มีการสืบทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง เช่น ความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์ ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่า ข้าวเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ เชื่อว่า ข้าวมีวิญญาณข้าว เรียกว่า แม่โพสพ สถิตอยู่ ดังนั้นเพื่อเป็นการทำให้แม่โพสพพอใจและอยู่กับชาวนาต่อไป ความเชื่อเรื่องดิถีฤกษ์ของคนไทย มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ การจะทำการมงคล จะต้องมีการดูฤกษ์ก่อนทุกครั้ง เพื่อกำหนดวันเวลาที่เหมาะแก่การประกอบพิธีมงคลนั้นๆ โดยไม่รีบด่วน เป็นการพิจารณาดูวัน เวลา สถานที่ บุคคล และสิ่งของเครื่องประกอบการทั้งหลาย โดยถี่ถ้วนว่าไม่มีอะไรขาดตกบกพร่อง เรียกว่า “ฤกษ์ดี” แต่ถ้าเห็นว่ามีอะไรบางอย่าง หรือหลายอย่างยังไม่พร้อมเรียกว่า “ฤกษ์ไม่ดี” ความเชื่อเรื่องของมีค่าร่วมทำพิธี การนำของมีค่าร่วมในพิธีกรรมนั้นเป็นการไหว้หรือบูชาครู และเทพยดา เพราะเชื่อว่าการนำของมีค่าร่วมพิธีเป็นการแสดงความยกย่อง เทิดทูน และจะทำให้เกิดความพอใจ จะส่งผลทำให้พิธีกรรมมีประสิทธิภาพ และอานุภาพมาก พิธีสมโภชแม่โพสพ เป็นพิธีบวงสรวงแม่โพสพผู้เป็นวิญญาณแห่งข้าว โดยเชื่อว่าถ้าข้าวมีขวัญสิงอยู่ประจำ ไม่หลีกลี้ไปไหน ต้นข้าวก็จะงอกงามสมบูรณ์ ให้ผลสูง ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน หรือเฉาตาย ส่วนที่เก็บเกี่ยวขึ้นสู่ยุ้งฉางแล้ว แม้จะจำหน่ายขายหรือกินก็สิ้นเปลืองไปน้อยที่สุด

 

แหล่งเข้าถึงข้อมูล

     เทศบาลตำบลระโนด ๒๒๙ ตำบลระโนด ถนนชายวารี อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา โทรศัพท์ ๐๗๔-๓๙๒๕๖๓-๕ โทรสาร ๐๗๔-๓๙๒๕๖๕ ต่อ ๒๓

 



ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว อื่น ๆ :


 

สถิติผู้เข้าชม

สถานที่ตั้ง

ติดตามข่าวสาร

     
 ผู้ชม(วิว) 161
 ผู้ชม(IP) 14
 เมื่อวานนี้ 121
 เดือนนี้ 246
 เดือนที่แล้ว 4516
 ปีนี้ 44921
 ปีที่แล้ว 84240

 ทีมงาน นิพนธ์

 อบจ. สงขลา

 แผนผังเว็บไซต์