ประเพณีรับเทียมดา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ประวัติความเป็นมา
ประเพณีรับเทียมดาหรือรับเทวดาหรือบางท้องถิ่นเรียกว่า “รับเจ้าเข้าเมือง” เป็นประเพณีที่ทำกันในช่วงวันสงกรานต์ เนื่องจากวันสงกรานต์ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยโบราณ ชาวใต้เชื่อกันว่าในช่วงวันสงกรานต์เป็นวันเถลิงศกใหม่จะมีเทวดาผลัดเปลี่ยนกันลงมาคุ้มครองโลกและดูแลทุกข์สุขของบ้านเมือง ก่อนวันสงกรานต์หนึ่งวันเชื่อกันว่าเทวดาองค์เก่าจะลาโลกไป ในวันสงกรานต์จึงว่างเทวดาหลังวันสงกรานต์หนึ่งวัน เทวดาองค์ใหม่ก็จะมาดูแลคุ้มครองโลกมนุษย์แทน จึงจัดให้มีพิธีกรรมรับเทียมดาองค์ใหม่ขึ้นโดยการสร้างศาลหรือร้านเทียมดา เตรียมอาหารคาวหวาน พร้อมธงทิวประกอบพิธีเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตในรอบปีและต้อนรับเทวดาองค์ใหม่ ดังเช่นชุมชนในตำบลคลองแห ซึ่งมีความเชื่อว่าถ้าหากใครได้ไปร่วมพิธี รับเทียมดาก็จะทำให้ครอบครัวและตัวเองอยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ เทวดาปกปักรักษา
ประเพณีรับเทียมดา เป็นพิธีกรรมสำคัญอย่างหนึ่งของชาวบ้านจังหวัดสงขลา จะมีพิธีรับเทียมดาขึ้นใน อำเภอต่างๆ ของจังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอสทิงพระ อำเภอเมือง อำเภอหาดใหญ่ เป็นต้น ซึ่งประเพณีรับเทียมดาจะปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลานาน เป็นประเพณีที่เกิดจากความเชื่ออันสืบเนื่องมาจากสังคมเกษตรกรรมในสมัยโบราณชาวบ้านส่วนใหญ่มีความเชื่อว่าปรากฏการณ์ต่างๆ ของธรรมชาติล้วนมีเทพเจ้ากำหนดขึ้นมาและเชื่อว่าในรอบปีเทวดาจะหมุนเวียนมาปกป้องรักษาคุ้มครองให้คนในหมู่บ้านอยู่เย็นเป็นสุข และคุ้มครองให้การทำมาหากินการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ ดังนั้นเพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อเทพยดาที่ปกป้องรักษา เพื่อเป็นการสืบทอดประเพณีที่ดีงามและเป็นการแสดงความกตัญญูต่อองค์เทวดาที่ปกป้องรักษาให้คนในหมู่บ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข มีสุขภาพที่แข็งแรงการเกษตรอุดมสมบูรณ์ จึงได้จัดรับ เทียมดาขึ้น
ประเพณีรับเทียมดา เป็นพิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของตำบลคลองแห คือ “การรับเทียมดา” หรือรับเทวดา ความเชื่อของสังคมเกษตรสมัยก่อนที่เชื่อว่าปรากฏการณ์ต่างๆ ของธรรมชาติ อาเพศ และความสุขต่างๆ ล้วนแต่เทพเจ้ากำหนดทั้งสิ้น จะโชคดีหรือร้ายขึ้นอยู่กับ เทวดาจะบันดาลโดยชาวบ้านมีความเชื่อว่าในรอบปีหนึ่งจะมีเทวดาหมุนเวียนกันมาคุ้มครองรักษาหมู่บ้านนั้นๆ หมุนเวียนอยู่เช่นนี้เสมอ ดังนั้นจะต้องมีการรับส่งและบูชาบวงสรวงเทพเจ้าหรือเทวดา เพื่อเป็นการสนองคุณที่ช่วยคุ้มครอง และดำเนินชีวิตต่อไปอย่างมีความสุข บันดาลสมัยก่อนการทำนา ฝนตกไม่ตรงตามฤดูกาล ชาวนาจึงทำพิธีบูชาเทวดา โดยยกหลา (ศาลา) หรือร้านเทวดาที่กลางนา ยกเป็นเสา ๑๖ เสา นำข้าวที่ออกรวงมาบูชา โดยตำเป็นข้าวเม่า เพื่อถวายบูชาเทวดา เอาปลาที่หาได้ในท้องนา ซึ่งมีหัวมีหาง ขนมข้าวพอง ขนมขาว ขนมแดง ข้าวตอก ดอกไม้ ที่หาได้ในท้องถิ่น นำมาบูชาเทวดา เพื่อให้เทวดาได้ปกป้องรักษาข้าว ไม่ให้นก หนู มากินข้าวในนา และดลบันดาลให้ฝนตกตามฤดูกาล โดยจะทำพิธีถวายบูชาเทวดา หรือประเพณีรับเทียมดาในช่วงสงกรานต์ ซึ่งนิยมทำในวันอังคาร วันพฤหัส และวันเสาร์ เพราะว่าวันดังกล่าวเป็นวันแข็งหรือวันเทวดา ประเพณีรับเทวดา จึงเป็นประเพณีที่แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อเทวดาที่ได้คุ้มครองและความเป็นสิริมงคลในหมู่บ้าน โดยมีความเชื่อว่า บ้านใด ได้มาร่วมพิธีรับเทียมดา ก็จะทำให้บุคคลในครอบครัวนั้นอยู่เย็นเป็นสุข
ความมุ่งหมายของประเพณี
๑. เพื่อแสดงถึงความกตัญญูต่อเทวดาที่ปกป้องรักษา ให้อยู่เย็นเป็นสุขในรอบหนึ่งปี
๒. เพื่อจัดพิธีรับเทียมดาหรือรับเทวดาองค์ใหม่ ที่จะคุ้มครองให้มีชีวิตและครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข
๓. เพื่อเป็นสิริมงคลให้กับตนเองและครอบครัว และเป็นการสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ
ขั้นตอนประเพณี
อุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบพิธี
ร้าน หรือภาษาใต้เรียกว่า “หลา” (ศาลา) ที่เรียกว่า “หลาเทียมดา” ภายในบริเวณวัด สร้างขึ้นเพื่อต้อนรับเทวดาองค์ใหม่ สร้างเป็นศาลาชั่วคราว ขนาด ๔x๔ เมตร การสร้างจะใช้เสาขนาด ๑๖เสา หมายถึง สวรรค์ทั้ง ๑๖ ชั้น ศาลาเทียมดาทำเป็น ๒ ชั้น ชั้นนอกสุดทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ชั้นในทำเป็นเสาร้าน ๔ เสา ขนาด ๒x ๒ เมตร มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมปลายสอบแบบเบญจา แต่ไม่มีส่วนยอด เสาร้านทำด้วยทางจากไม้พลับพลา ซึ่งเป็นพรรณไม้ในมีชื่อเหมือนที่ประทับ (พลับพลา หมายถึง ที่ประทับชั่วครั้งคราว) ใช้ในการประทับรับรองเทวดาสูงประมาณ ๑ เมตร สำหรับจัดวางเครื่องบวงสรวงเทวดา ส่วนเสาและขอบนอกแต่ละชั้นประดับตกแต่งให้สวยงามด้วยการแทงหยวก ซึ่งเป็นการนำเอากาบกล้วยมาทำให้เป็นลวดลายต่างๆ โดยวิธีแทงด้วยมีดเเทงหยวกใช้สำหรับการประดับตกเเต่งสถานที่ที่เป็นงานชั่วคราว เพื่อให้เกิดความสวยงาม ขั้นตอนการแทงหยวก และประกอบเข้าเป็นลายชุดนั้น มีขั้นตอนใหญ่อยู่ ๓ ขั้นตอน คือ ขั้นเตรียมอุปกรณ์สำหรับแทงหยวก ได้แก่ ต้นกล้วยตานี ที่ยังไม่มีเครือ หรือยังไม่ออกหวีกล้วยต้นกล้วยจะอ่อนแทงลวดลายได้ง่าย ไม่เปราะเหี่ยวง่าย เมื่อลอกกาบกล้วยออกจากลำต้นแล้วจะอยู่ได้ถึง ๒๔ ชั่วโมง มีดสำหรับแทงหยวก ตอกไม้ไผ่ใช้สำหรับประกอบเข้าเป็นส่วนต่างๆ กระดาษสีใช้สำหรับรองรับลวดลายต้นกล้วยให้ปรากฏชัดเจนขั้นแทงลวดลายลงบนหยวก เป็นลวดลายกนกต่างๆ เช่น ฟันปลา ฟันสาม ฟันห้า ฟันบัว ตามความถนัดของช่าง และขั้นประกอบหยวกเป็นลายชุด เพื่อทำเป็นเสาล่าง เสาบน รัดเกล้า เเละฐานล่างโดยใช้ตอกผิวไม้ไผ่เย็บให้ติดกันเเล้วติดเเต่งมุมให้เรียบร้อย
เครื่องบวงสรวงเทวดา จะต้องเป็นอาหารที่สุกแล้วเท่านั้น ประกอบด้วย ๒ ส่วน คือ เครื่องบวงสรวงที่ใช้ในการประกอบพิธี ประกอบด้วยของสำคัญได้แก่ ข้าวสุก เรียกว่า ข้าวปากหม้อ ปลาทั้งตัว เรียกว่า ปลามีหัวมีหาง ของคาวหวาน ขนมแดง ขนมขาว ขนมเหลือง ผลไม้ ของแห้งต่างๆ และเครื่องบวงสรวงของที่ชาวบ้านที่มาร่วมงานเพื่อนำมาบูชาเทวดาตามความศรัทธา โดยจะนำสิ่งเหล่านี้ใส่ภาชนะนำไปวางบนหลา เทียมดาที่ทำพิธี ในส่วนของสิ่งของที่วางบนหลาเทียมดานั้น ในแต่ละท้องที่จะไม่เหมือนกัน เช่น บางแห่งมักจะใช้ของที่ใช้ประกอบอาหาร เช่น ข้าวสาร กะปิ เกลือ ขมิ้น พริกขี้หนู หอม กระเทียม เป็นต้น นอกจากนี้ยังจะใส่ข้าวสุก แกง ขนมหวาน รวมทั้งหมาก พลู และบุหรี่ด้วย
ธงทิว ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของการรับ-ส่งเทวดา เป็นธงรูปสามเหลี่ยมทำด้วยกระดาษสีขาว ทางวัดจะเป็นผู้จัดหามาให้ สำหรับ ๑ คน ให้เขียนข้อความทั้ง ๒ ธง โดยเขียนข้อความว่า “ ข้าพเจ้า (ชื่อ)..............................ได้มารับเทวดาแล้วองค์ใหม่แล้ว” ก่อนปักธงบนหลาเทียมดาให้อธิษฐานว่า “ข้าพเจ้าที่มารับเทวดาในวันนี้ ขอให้เทวดาช่วยปกปักรักษาให้ข้าพเจ้ามีความสุขความเจริญตลอดไป” อธิษฐานแล้วปักธงทิวเป็นเครื่องยืนยัน ๑ ธง นำติดตัวกลับไปบ้านอีก ๑ ธง เพื่อนำไปปักไว้ที่หลังคาบ้านหรือหน้าบ้านเป็นสัญลักษณ์ว่าบ้านนี้รับเทวดาแล้ว
ขั้นตอนการทำพิธี
ตั้งแต่เวลา ๑๘.๐๐ น. เป็นต้นไป ชาวบ้านจะนำเอาอาหารคาวหวานใส่ภาชนะ ข้าวตอกดอกไม้ ซึ่งเป็นเครื่องบวงสรวงเทวดา และปักธงสามเหลี่ยมขนาดเล็ก จุดธูปเทียนมาปักบนอาหาร มายังสถานที่ประกอบพิธี ผู้นำในการประกอบพิธีก็เริ่มทำ จะนำกล่าวนะโมฯ สามจบ แล้วต่อด้วยบทสวดชุมนุมเทวดา ประธานในพิธีวางของที่นำมาบวงสรวงเทวดาวางบนร้านที่ทำไว้ก่อน
หลังจากนั้นชาวบ้านต่างก็นำเอาอาหารคาวหวานใส่ภาชนะ ซึ่งเป็นเครื่องบวงสรวงเทวดา นำไปวางบนร้านรอจนกระทั่งธูปหมดดอก ระหว่างที่ชาวบ้านรอให้ธูปหมดดอก ทางวัดก็จัดกิจกรรม เช่น นิมนต์พระ มาสวดสาธยายคุณธรรมของเทวดา คือ หิริ โอตตัปปะ ความละอายบาป และความเกรงกลัวบาป เป็นต้น
หลังจากเสร็จพิธี ชาวบ้านก็ร่วมรับประทานอาหารที่นำมาบวงสรวงที่พอจะเลือกรับประทานได้ พร้อมกับนั่งคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือคุยเรื่องสนุกสนาน ชมกิจกรรมการแสดง เช่น หนังตะลุง โนรา ภายในบริเวณลานวัด แล้วก็แยกย้ายกันกลับบ้านโดยไม่ลืมที่จะนำธงผืนที่ ๒ ที่เป็นธงรับเทวดากลับด้วย และนำไปปักไว้ที่หลังคาบ้าน ส่วนธงผืนที่ ๑ ที่เป็นธงส่งเทวดาก็ปักไว้ที่ทำพิธีเช่นเดิม
ช่วงเวลาที่จัด
พิธีนี้จะในช่วงวันสงกรานต์ของทุกปี ส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่าง ๑๓-๑๖ เมษายน ทุกปี ทั้งนี้วันที่แน่นอนขึ้นอยู่กับการประชุมของคณะกรรมการจัดงานเป็นผู้พิจารณา แต่มีกำหนดว่าวันที่ทำพิธีนั้น ถ้าเป็นข้างขึ้นจะต้องเป็นวันคี่ เช่น ขึ้น ๕ ค่ำ ขึ้น ๙ ค่ำ และถ้าเป็นข้างแรมจะต้องเป็นวันคู่ เช่น แรม ๖ ค่ำ แรม ๑๒ ค่ำ เพราะชาวบ้านมีความเชื่อว่าวันแรมคู่หรือวันขึ้นคี่นั้น จะมีเทวดาเท่านั้นที่มารับของบวงสรวง ผีชั้นต่ำอื่นๆ ไม่สามารถมารับของบวงสรวงได้
สถานที่
ณ วัดคลองแห ตำบลคลองแห อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
คุณค่า/ความเชื่อ
คติความเชื่อที่บรรพบุรุษได้สั่งสมต่อกันมาเพื่อขัดเกลาคนรุ่นหลังให้รู้จักนอบน้อมต่อธรรมชาติ ต่อบรรพบุรุษ ต่อเทวดาที่ปกป้องรักษาให้อยู่เย็นเป็นสุข ประเพณีรับเทียมดายังมีคุณค่าในด้านต่างๆ ดังนี้
๑. ด้านคุณธรรม ประชาชนได้แสดงถึงความกตัญญูต่อเทวดาที่ปกป้องคุ้มครองลูกหลานให้มีชีวิตที่ดีและอยู่เย็นเป็นสุข ทำมาหากินได้คล่อง และเพื่อเป็นสิริมงคลในครอบครัวและหมู่บ้าน
๒. ด้านสังคม เป็นการบูรณาการด้านสังคมความสามัคคีของหมู่คณะ ความสมานฉันท์ ซึ่งมีทั้งชาวพุทธ และศาสนาอื่นที่มาร่วมประเพณีรับเทียมดา
๓. ด้านส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในตำบลคลองแหในการจัดประเพณีเทียมดา ซึ่งเป็นประเพณีที่จัดขึ้นทุกปี
แหล่งเข้าถึงข้อมูล
เทศบาลเมืองคลองแห หมู่ที่ ๗ ถนนคลองแห-คูเต่า ตำบลคลองแห อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โทรศัพท์ ๐๗๔-๕๘๐๘๘๘ โทรสาร ๐๗๔-๕๘๐๗๘๕
|