ประติมากรรมนาคพ่นน้ำ
ตามความเชื่อของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พญานาค หมายถึง สัญลักษณ์ของการกำเนิดของน้ำและความอุดมสมบูรณ์นับเป็นความเชื่อแต่โบราณนานมา ประติมากรรมนาคพ่นน้ำจังหวัดสงขลา เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจของนายอุทิศ ชูช่วย นายกเทศมนตรีนครสงขลา ที่จะสร้างสัญลักษณ์แห่งใหม่ของเมืองสงขลา ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2549 โดยมีอาจารย์มนตรี สังข์มุสิกานนท์ เป็นผู้ดำเนินงานออกแบบและก่อสร้าง
โดยมีแนวคิดพิสดารไม่เหมือนใครด้วยการแบ่งประติมากรรมนี้ออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนหัวของพญานาคที่พ่นน้ำได้ หมายถึงสติ ปัญญาที่เป็นเลิศของชาวสงขลา ตั้งอยู่ที่ปลายแหลมสนอ่อน ส่วนกลางคือสะดือนาค หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ของเมืองสงขลา ตั้งอยู่ที่ลานชมดาวสนามสระบัว หาดสมิหลา และส่วนหางของพญานาคหมายถึงบริวารที่พรั่งพร้อมของชาวสงขลา ตั้งอยู่ที่ริมหาดสมิหลา อาจกล่าวได้ว่านี่คือ ประติมากรรมแยกร่างอย่างสมบูรณ์แบบหนึ่งเดียวในเมืองไทยและเป็นพญานาคที่ยาวที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย
|